ฉากสุดท้ายของขงจื้อ
“โศกเศร้าและร่วงโรย”
สมัยนี้ไม่ว่าจะสนใจวัฒนธรรมจีนหรือไม่ ไม่ตั้งใจเรียนสังคมศึกษาขนาดไหน ก็ยังต้องรู้จัก “ขงจื่อ” (孔子) บ้าง ขงจื่อเป็นตัวแทนที่รัฐบาลจีนนำชื่อมาจัดตั้งเป็นสถาบันเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีนทั่วโลก ชีวิตขงจื่อถูกทำเป็นภาพยนตร์ เพราะขงจื่อซึ่งยึดถือกันในจีนมากกว่าสองพันปี
ในด้านประวัติศาสตร์ ความยิ่งใหญ่ของขงจื่อไม่ต่างกับพระพุทธเจ้าทั้งสองคือ ต้นธารของแนวคิดที่เก่าแก่ยาวนาน และต่างก็เกิดในยุคสมัยเดียวกัน
ชีวประวัติของขงจื่อ
ชีวประวัติส่วนใหญ่ของขงจื่อ ว่าด้วยการร่อนเร่ไปทั่วแผ่นดินเพื่อนำเสนอการปกครองในอุดมคติ แม้ในช่วงชีวิตของท่านไม่เคยมีผู้ปกครองคนใดรับแนวคิดไปปกครองบ้านเมืองจริงจัง แต่ความรู้ ความสามารถและแนวคิดอันยิ่งใหญ่ของท่านถูกเล่าลือต่อๆ กันตั้งแต่ยุคนั้น ทำให้มีผู้เคารพศรัทธาฝากตัวเล่าเรียนกับขงจื่อมากมาย หลายคนเป็นนักการเมืองผู้มีความสามารถ จนมีคำเรียกกลุ่มของขงจื่อ “ขงจื่อและศิษย์ทั้งสามพัน” หมายถึงว่าลูกศิษย์ขงจื่อมีหลายพันคน ซึ่งไม่ต้องแปลกใจว่า หลังท่านสิ้นชีวิตไปหลายร้อยปี คนจีนทั้งแผ่นดินก็ยังถือว่าท่านเป็นบรมครู
ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิต ผู้คนก็เห็นขงจื่อเป็นอริยบุคคล จนท่านเสียชีวิต ตัวท่านยิ่งถูกยกให้สูงขึ้นไปอีก ทุกวันนี้เรายังได้เห็นคำคมของขงจื่อมากมาย แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลคำสั่งสอนของบรมครูขงจื่อ
แต่ขงจื่อก็คือ มนุษย์คนหนึ่ง เหมือนศาสดาหลายๆท่านในโลกที่ย่อมมีช่วงชีวิตลำเค็ญมาก่อน ขงจื่อบอกเองว่า ชีวิตตนเหมือนสุนัขไร้บ้าน
ความสำเร็จมากมายภายหลังขงจื่อจากโลกนี้ไปทำให้เกิดกระแสยกย่องขยับขยายต่อเติมความสูงส่งให้ขงจื่อมาตลอด 2,500 ปี แต่หากอ่านชีวประวัติขงจื่อจะพบสิ่งตรงกันข้าม โดยเฉพาะในบั้นปลายชีวิตอันแสนรันทด
ช่วงบั้นปลายชีวิตของขงจื่อ
ขงจื้อในวัย 68 ปี ท่านกลับแคว้นหลู่(บ้านเกิด) ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นขุนนาง เลือกใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบร่วมกับชาวบ้าน เวลาส่วนใหญ่ทุ่มเทให้กับการสอนหนังสือ รวบรวมพิธีกรรมและดนตรีโบราณเรียบเรียงประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว ศึกษาตำราอี้จิง
แต่ความโศกเศร้าก็เริ่มมาเยือน เมื่อขงจื่ออายุ 69 ปี ลูกชายคนเดียวของขงจื่อก็จากไปด้วยอายุเพียง 50 ปี
เพียงสองปีหลังจากนั้น เหยียนหุย ศิษย์เอกผู้ยากไร้ แต่คุณธรรมสูงส่ง ซึ่งขงจื่อคิดว่า สามารถฝากฝังเป็นตัวแทนสืบทอดแนวคิดของท่านก็มาตายจากไปอีกคน ด้วยอายุเพียง 40 ปี
เมื่อเหยียนหุยตาย ขงจื่อทุกข์ระทมมาก เขาโอบกอดโลงศพร้ำไห้โศกเศร้าเสียใจ จนลูกศิษย์ขงจื่อต้องเข้าไปทักท่าอาจารย์ว่า ท่านกำลังร้ำไห้ทุกข์ระทมมากเกินไป (เพราะขงจื่อเคยสั่งสอนว่า พฤติกรรมร่ำไห้ทุกข์ระทมเกินเหตุเป็นสิ่งไม่สมควร)
ขงจื่อเหมือนได้สติขึ้นมาขณะหนึ่ง แล้วหันมาถามศิษย์ว่า “โอ้ ข้าร่ำไห้หรือ?” แล้วจึงกล่าวต่อว่า “หากข้าไม่ร่ำไห้ทุกข์ระทมเพื่อคนนี้ แล้วข้าจะร่ำไห้เพื่อใครได้อีกเล่า”
ยังมีศิษย์เอกอีกคนชื่อ จื่อก้ง
จื่อก้ง เป็นลูกศิษย์ที่มาจากครอบครัวร่ำรวย ฉลาดในการเจรจา แต่ขงจื่อมักตำหนิว่าเขาไม่เข้าใจในคำสอนอยู่เนืองๆ ภายหลังจื่อก้งไปรับราชการที่แคว้นฉู่ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งทั้งด้านฐานะและเงินทองในแผ่นดินไม่มีใครไม่รู้จักจื่อก้ง
เมื่อขวบปีสุดท้ายของชีวิตขงจื่อ จื่อก้งเห็นว่าตนไม่ได้พบขงจื่อมานับสิบปี วันหนึ่งเขาเดินทางมาพบขงจื่อ ภาพที่จื่อก้งเห็นคือ ชายชราอายุ 73 ปี ที่ดูเหมือนเปลวเทียนที่กำลังจะดับ ยืนพยุงตัวด้วยไม้เท้าอยู่หน้าประตูเรือน คำแรกที่ขงจื่อพูดกับจื่อก้งคือ “จื่อก้องเอ่ย ทำไมเจ้าจึงมาช้าได้ขนาดนี้”
จื่อก้งนับว่ามาได้ทันเวลา เพราะหลังจากนั้นเพียง 7 วัน ขงจื่อก็จากเขาและลูกศิษย์ทั้งหลายไปตลอดกาล
หากใช้ความเป็นคนวัดเอา คงเดาได้ไม่ยากว่า ขงจื่อจากโลกนี้ไปด้วยสภาวะจิตใจรันทดเช่นไร
ลูกศิษย์ทั้งหลายของขงจื่อ อยู่ไว้ทุกข์ให้กับอาจารย์ 3 ปี ตามธรรมเนียมโบราณ แต่จื่อก้ง ลูกศิษย์ที่โดนขงจื่อตำหนิอยู่เนือยๆ ผู้ที่ช่วงชีวิตกำลังประสบความสำเร็จ อยู่ไว้ทุกข์ให้กับอาจารย์ถึง 6 ปี
ฉากชีวิตช่วงสุดท้ายของขงจื่อไม่ได้สวยงาม เรียกได้ว่าขงจื่อ คือ ผู้ผิดหวังในชีวิต ขงจื่อถูกประวัติศาสตร์บันทึกไว้อย่างสมจริงว่าท่าน ไม่ใช่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์ หรือจบลงอย่างงดงามอย่างที่คนยุคหลังมักยัดเหยียด และจินตนาการไปว่าระดับศาสดาจะต้องเป็น
อ้างอิงจาก หนังสือมองตะเกียบเห็นป่าไผ่ 3