เบื้องหลัง “มอบนาฬิกา = มอบความตาย" จริงไหม??
นาฬิกา คือของขวัญต้องห้ามที่ชาวจีนถือกันมาก เพราะชาวจีน เชื่อว่าการมอบนาฬิกาเท่ากับมอบความตายให้แก่ผู้รับ
หากลองใช้ตรรกะเดียวกับของขวัญต้องห้ามที่คนไทยคุ้นชิน เช่น ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ให้น้ำหอมเท่ากับต่อว่าผู้รับตัวเหม็น การห้ามให้นาฬิกาคงจะมีความหมายลึกซึ้งว่า เวลาของคุณหมดแล้ว หรือความสัมพันธ์นั้นจะหยุดลงได้เมื่อนาฬิกาเรือนนั้นหยุดเดิน
ชาวจีนห้ามใช้นาฬิกา เพราะในภาษาจีน “มอบนาฬิกา (送钟)” พ้องเสียงกับคำว่า “ส่งอวสาน(送终)” ซึ่งก็คือ พิธีกรรมก่อนจะส่งผู้ตายเข้าเตาเผา หรือลงหลุม หรือหมายถึงการไปดูหน้ากันก่อนสิ้นใจ โดยทั้งคู่อ่านว่า “ซ่งจง”
“ซ่ง” 送 แปลว่า ส่ง ให้ หรือมอบ ส่วน “จง” 钟,终 เป็นสองตัวอักษรที่พ้องเสียงกัน ตัวหนึ่งแปลว่านาฬิกา อีกตัวแปลว่า จุดจบอวสาน
เพื่อความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนจึงต้องอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากภาษาจีนมีเสียงให้ใช้น้อย จึงมีอักษรที่พ้องเสียงกันอยู่มาก อย่างที่ชอบบอกว่าได้ยินเสียงชาวจีนคุยกัน “โช้งเช้ง” ไปมา ก็เพราะว่าเสียงภาษาจีนมีน้อยนี่แหละ
เกมวัฒนธรรมความเชื่อของจีน จึงผูกพันกับการเล่นคำพ้องเสียงมากมาย ความเชื่อเช่นเดียวกัน กับการห้ามมอบนาฬิกาจึงยังมีอีกเยอะ เช่น คนจีนห้ามให้ลูกแพร์ (梨) เพราะลูกแพร์ในภาษาจีนอ่านหว่า “หลี” ซึ่งห้องเสียงกับคำว่า ลาจากกัน (离) หรือห้ามให้ร่ม (伞) เพราะร่มภาษาจีนอ่านว่า “ส่าน” คล้ายกับเสียง “ซ่าน” ที่แปลว่าพลัดพราก (散)
ทั้งลูกแพร์และร่ม จึงเป็นของขวัญต้องห้าม เพราะให้แฟน ให้เพื่อนก็ถือว่าบอกเลิกคบ ให้คู่รัก ก็ถือว่าสาปแช่งให้หย่า ให้ผู้ใหญ่ คนชรา เท่ากับอกว่า ควรลาโลกไปได้แล้ว
และเกมนี้ไม่ได้เล่นแค่คำอัปมงคล อย่างเช่นในเทศกาลตรุษจีนที่มีการติดตัวอักษรคำว่า “สิริมงคล” (福) กลับด้านบนล่างก็เพราะคำว่า “กลับด้าน” (倒) มีเสียงเหมือนกับคำว่า “มาถึง(到)
สิริมงคลที่กลับด้าน จึงหมายถึงว่า สิริมงคลมาถึงแล้ว
กลับไปถึงเรื่องมอบนาฬิกา ความไม่รู้ธรรมเนียมนี้ก็เคยทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนระหว่างตัวแทนสองประเทศมาแล้ว
เรื่องมีอยู่ว่า หลังตรุษจีนปี ค.ศ.2015 ได้ไม่นาน นางซูซาน คราเมอร์ รัฐมนตรีคมนาคมของอังกฤษเยี่ยมเยือนไต้หวัน ในพิธีเจอะเจอกันเธอมอบของขวัญเป็นนาฬิกาพกให้กับ ดร.เคอเหวินเจ๋อ-ผู้ว่าการกรุงไทเป
จังหวะนั้นทำเอา ดร.เคอมีสีหน้าแปลกๆ ออกสื่อ เมื่อนักข่าวท้องถิ่นเข้าไปถาม ดร.เคอ เขาจึงตอบติดตลกไปว่า “จะเอาไปให้คนอื่น หรือไม่ก็ขายเป็นเศษเหล็ก เพราะมันคงไม่มีประโยชน์อะไร…”
ผลก็คือ นางซูซาน ต้องออกมากล่าวขอโทษ ส่วนดร.เคอเหวินเจ๋อ ก็ถูกนักการเมืองไต้หวันด้วยกันโจมตีว่าหยาบคายเป็นตัวอย่างของการทูตที่ผิดพลาด และคำพูดติดตลกผิดเวลา
แต่ความเชื่อนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่จีนได้รู้นาฬิกา และที่จริงกล่าวได้ว่าเพิ่งเริ่มเชื่อกันอย่างกว้างขวางเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง
อ้างอิงจาก หนังสือมองตะเกียบเห็นป่าไผ่3