อั่งเปา VS แต๊ะเอีย

อั่งเปา กับ แต๊ะเอีย ต่างกันยังไง
Facebook
Twitter

        “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ทุกคน!!! เทศกาลแห่งความสุขที่คนไทยเชื้อสายจีนรอคอย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาให้รอถึงวันแจกอั่งเปา!  มาถึงแล้ว ในเทศกาลวันตรุษจีนนั่นเอง 

        “วันตรุษจีน” เปรียบเสมือนเป็นเทศกาลปีใหม่ของชาวจีน ในช่วงนี้ผู้คนมักนิยมซื้อของขวัญ และข้าวของเครื่องใช้สำหรับเทศกาล ทำความสะอาดบ้านเรือน สวมเครื่องแต่งกายสีแดง เพื่อความเป็นสิริมงคล 

        นอกจากนี้คนจีนยังนิยมมอบ ซองแดงหรืออั่งเปา (红色)เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย ซึ่งเรามักจะได้ยินคำว่า “อั่งเปา” หรือ “แต๊ะเอีย” อยู่บ่อยครั้ง แต่รู้หรือไม่ว่า 2 คำนี้ต่างกันอย่างไร?? และมีหลักการให้แบบไหน ??วันนี้ Chineseaholic รวบรวมทุกข้อสงสัยไขคำตอบไว้แล้วที่นี่!

อั่งเปา VS แต๊ะเอีย แตกต่างกันอย่างไร?

        “อั่งเปา” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว มาจากคำว่า อั่ง แปลว่า แดง และคำว่า เปา แปลว่า ซอง/กระเป๋า เมื่อมารวมกันก็จะหมายความถึง ซองแดง (红色)ที่มักจะใส่ของมงคลเอาไว้ อย่าง ส้ม หยก หรือว่าเงิน และเงินที่ใส่ในซองแดงนั้นก็คือ แต๊ะเอียนั่นเอง

        ส่วนคำว่า “แต๊ะเอีย” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วเช่นเดียวกัน  ซึ่ง คำว่า แต๊ะ แปลว่า กด/ทับ ส่วน เอีย แปลว่า เอว เมื่อแปลรวมกันก็จะหมายถึง ของที่มากดทบที่เอว 

        สาเหตุที่เรียกแบบนี้ เนื่องจากในอดีตเงินของชาวจีนจะมีลักษณะเป็นเหรียญวงกลมซึ่งมีรูตรงกลาง และมักจะผูกด้วยด้ายแดง เอาไว้เป็นพวงเพื่อให้เด็ก ๆ ในวันปีใหม่ 

        ส่วนในปัจจุบันไม่มีการใช้เงินเหรียญที่มีรูตรงกลางแล้ว “แต๊ะเอีย” จึงมีความหมายถึง “สิ่งของ” หรือ “เงิน” ที่ใส่ไว้ในซองสีแดง (ซึ่งก็คืออั่งเปา)

อั่งเปา กับ แต๊ะเอีย ต่างกันยังไง

ทำไมต้องซองแดง?

        ตามความเชื่อของคนจีน “สีแดง” (红色) เป็นสีของความมงคล ความรุ่งโรจน์ และความโชคดี ดังนั้นชาวจีนมักนำเงินใส่ซองแดง มอบให้กับลูกหลานหรือคนรู้จัก ในวันมงคลต่างๆ เช่น วันตรุษจีน วันแต่งงาน วันคนเปิดร้านใหม่ ฯลฯ เพื่อเป็นการอวยพรให้ผู้รับพบแต่โชคลาภ และเพื่อเป็นการแสดงความยินดี

ให้ เงินแต๊ะเอีย วันไหน?

        แม้จะเข้าสู่ช่วงตรุษจีน แต่คนไทยเชื้อสายจีนหรือลูกหลานคนจีน ไม่ใช่ว่าจะได้รับอั่งเปาหรือแต๊ะเอียเลยทันที เนื่องจากปฏิทินตรุษจีนนั้นจะแบ่งวันออกเป็น 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว หรือวันปีใหม่ 

        โดยธรรมเนียมในวันเที่ยวหรือวันชิวอิก จะเป็นวันที่เราไปไหว้ขอพรผู้ใหญ่ พร้อมกับส้มมงคลเพื่อนำความโชคดีและคำอวยพรไปให้บุคคลที่เราเคารพนับถือ โดยในวันนี้จะเป็นวันที่เราได้รับอั่งเปาหรือแต๊ะเอีย กลับมาจากญาติผู้ใหญ่นั่นเอง

ใครต้องให้ เงินแต๊ะเอีย?

        เมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้น มีงานทำ มีเงินเดือนเป็นของตัวเองแล้ว จะไม่ได้รับ “แต๊ะเอีย”  แต่จะต้องเป็นคนให้เงิน “แต๊ะเอีย” กับเด็ก ๆ ในบ้านที่มีอายุน้อยกว่าต่อไป วนเป็นวัฏจักรโดยมีเกณฑ์เป็นความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือการเติบโตทางการเงินที่มากขึ้น เป็นตัววัด เช่น ผู้ที่เริ่มทำงาน หรือแต่งงานแล้ว

ผู้น้อยสามารถมอบอั่งเปาให้ผู้อาวุโสกว่าได้ โดยการมอบอั่งเปาให้ผู้อาวุโสกว่า หมายถึง การอวยพรให้ผู้ใหญ่มีสุขภาพดี แข็งแรง อายุยืนยาว

การมอบอั่งเปาให้เด็ก ๆ หมายถึง การอวยพรให้เด็ก ๆ โชคดี มีโชคลาภ เจริญเติบโตแข็งแรง

ผู้ใหญ่มอบอั่งเปาให้ลูกหลานที่ทำงานแล้ว ก็เป็นการอวยพรให้หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า มีสุขภาพแข็งแรง

ลูก ๆ ที่ทำงานแล้ว หรือแต่งงานไปแล้วมอบอั่งเปาให้พ่อแม่ จะเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที อวยพรให้พ่อแม่มีอายุยืนยาว

*การที่ลูกให้อั่งเปาพ่อแม่ และพ่อแม่ให้อั่งเปาลูกด้วย จะต้องเป็นเงินของใครของมันเท่านั้น หากลูกให้พ่อแม่แล้ว พ่อแม่นำกลับมาให้ลูกต่ออีกที แบบนี้ไม่ได้

อั่งเปา กับ แต๊ะเอีย ต่างกันยังไง

ให้ แต๊ะเอีย เท่าไหร่ ถึงจะเป็นสิริมงคล?

        การให้อั่งเปา ผู้ใส่มักจะนิยมใส่จำนวนเงินเป็น เลขคู่ เนื่องจากตามความเชื่อของชาวจีนถือว่า เลขคู่เป็นเลขมงคล อีกทั้งหมายถึงการทวีคูณ โชคสองต่อ โชคสองชั้น แต่จะให้จำนวนเงินเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับรายได้ด้วยเช่นกัน ถ้ารายได้ไม่มาก หรือให้เด็กเล็ก อาจใส่ซองละ 200, 400, 800 ถ้ารายได้มากหรือมอบให้ผู้ใหญ่ที่โตขึ้น ก็อาจใส่จำนวนมากขึ้นตามแต่กำลัง

        แต่ตัวเลขที่นิยมมากที่สุด คือ เลข 8 เพราะในภาษาจีนเลข 8 อ่านออกเสียงคล้ายกับคำที่มีความหมายว่า ความร่ำรวย ความรุ่งโรจน์ ความรุ่งเรือง

        แม้จะไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีนหรือลูกหลานคนจีน แต่คนไทยก็ยังสามารถได้รับแต๊ะเอียจากเจ้านายหรือเจ้าของกิจการได้เช่นเดียวกัน และในช่วงตรุษจีนทั้งคนจีนและคนไทยต่างก็สามารถเข้ากิจกรรม กินของไหว้หรือร่วมอวยพรปีใหม่จีนได้ไม่แตกต่างกัน เพราะวัฒนธรรมจีน หรือวัฒนธรรมสากลอื่น ๆ ถูกแทรกซึมอยู่ในสังคมไทย จนเกิดปรากฏการณ์ฟิวชั่นในหลากหลายรูปแบบ